ระบบปั้นอัจฉริยะ : Scholar's Advanced Technological System - ตอนที่ 738 นาซาแถลงข่าว
- Home
- ระบบปั้นอัจฉริยะ : Scholar's Advanced Technological System
- ตอนที่ 738 นาซาแถลงข่าว
เวลา 9 นาฬิกา ตามเวลามาตรฐานของวอชิงตัน
ในห้องพักของการแถลงข่าวของนาซา
ผู้อำนวยการนาซา คุณคาร์สัน กำลังยืนอยู่หน้ากระจก เขาจัดแจงเนกไทของตัวเองให้เข้าที่แล้วพูดขึ้นมาทันทีว่า
“เกอร์สเตนไมเออร์ คุณเชื่อเรื่องพระเจ้าไหม?”
เกอร์สเตนไมเออร์นั่งอยู่ตรงเก้าอี้ใกล้ๆ เขาลังเลอยู่ครู่หนึ่งก่อนจะตอบคำถามว่า
“ผม…ขอโทษด้วยครับ แต่ผมไม่เชื่อเรื่องพระเจ้า”
“ถ้าอย่างนั้น คุณเป็นพวกวัตถุนิยมเหรอ?”
“ผมคิดว่าอย่างนั้น” เกอร์สเตนไมเออร์ยักไหล่ก่อนจะพูดต่อ “แบบว่า ผมทำงานกับจรวดและดาวเทียมตลอดทั้งวันนะ ผมไม่คิดว่าจะยังมีคนนับถือศาสนาคริสต์ในนาซาอยู่อีก”
“ดูเหมือนพวกเราจะเป็นคนละกลุ่มกันแล้วนะ” คาร์สันยิ้มแล้วพูดขึ้นช้าๆ ว่า “ผมเป็นพวกนักอุดมคติ”
“…ถ้าอย่างนั้น แปลว่าคุณเป็นพวกที่นับถือในพระเจ้าเพียงองค์เดียวเหรอครับ?”
“เปล่า ผมเชื่อในอุดมคติรูปแบบอื่น มันออกแนวเป็นความเชื่อแบบการค้นพบความต้องการที่แท้จริงของจิตใจมากกว่า เราจะทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งได้อย่างไรน่ะเหรอ? มันไม่เกี่ยวกับว่าต้องกลับมายิ่งใหญ่อีกรอบหรอก มันเกี่ยวกับการทำให้คนในเชื่อในประเทศอเมริกาอีกครั้งต่างหากล่ะ”
คาร์สันมองไปทางเกอร์สเตนไมเออร์แล้วพูดขึ้น
“ใกล้จะถึงเวลาแล้ว พวกนักข่าวกำลังรอพวกเราอยู่ ไปกันเถอะ”
…
ไฟถูกเปิดขึ้น
ผู้อำนวยการคาร์สันอยู่ในชุดสูท เขายืนอยู่หน้ากลุ่มนักข่าวและกล้องอีกหลายตัว จากนั้นเขาก็ประกาศเริ่มต้นการแถลงข่าว
โดยปกติแล้ว การแถลงข่าวในลักษณะนี้จะจัดทำโดยโฆษกที่เลือกมาแล้ว แต่หลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากโฆษกที่ทำหน้าที่ได้แย่ในครั้งที่แล้ว คาร์สันก็รู้สึกว่า เขาทำเองดีกว่า
“ท่านสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี ขอขอบคุณที่ทุกท่านมาเข้าร่วมในงานแถลงข่าวของพวกเราครั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ก่อน สํานักงานวิเคราะห์และติดตามการใช้งบประมาณแห่งรัฐสภาได้อนุมัติงบประมาณของโครงการแอรีสระยะแรกเรียบร้อยแล้ว จรวดบีเอฟอาร์จะรับหน้าที่ส่งยานดำรงชีพน้ำหนัก 25 ตัน ไปยังดาวอังคาร หลังจากนั้น 1 เดือน พวกเราจะมุ่งหน้าไปสู่บ้านหลังใหม่ของเรา ดาวอังคารครับ”
ผู้อำนวยการคาร์สันมองไปทางจอโปรเจคเตอร์ข้างหลังเขา
“สิ่งนี้คือระบบดำรงชีพ”
หน้าจอโปรเจคเตอร์เปลี่ยนสไลด์
มีอาคารหลังคาโดมสีขาวอยู่ตรงกลางจอ
ตึกสีขาวทรงครึ่งวงกลมถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่ง ฝั่งวงข้างในและฝั่งวงข้างนอก ฝั่งวงข้างในถูกแบ่งออกเป็น 4 บล็อก มี 2 บล็อกที่เป็นพื้นที่อยู่อาศัย ซึ่งสามารถบรรจุคนได้ 4 คนด้วยกัน แต่ละคนจะได้พื้นที่อยู่อาศัยขนาด 5.3 ตารางเมตร ส่วนอีก 2 บล็อกจะถูกใช้เป็นพื้นที่ทำการทดลองและพื้นที่ส่วนรวม บล็อกหนึ่งมีไว้ทำวิจัยวิทยาศาสตร์ ส่วนที่อีกบล็อกมีไว้เพื่อความสะดวกสบาย
วงกลมวงนอกของระบบดำรงชีพเป็นส่วนที่สามารถแยกออกมาและพับเก็บกลับไปอยู่ที่เดิมได้ มันคล้ายกับเรือนกระจกปลูกผัก และยังถูกใช้ในการเก็บเกี่ยวพืชที่ทนทานต่อความแห้งแล้งเพื่อผลิตอาหารเพิ่มให้กับนักบินอวกาศด้วย นี่จะช่วยลดความจำเป็นในการขนส่งทรัพยากรจากโลกมาดาวอังคาร
นอกจากนี้ยังมีแผนผังมโนทัศน์ของพื้นที่อาณานิคมดาวอังคารอีกด้วย
‘เต็นท์’ ทรงครึ่งวงกลมสีขาวเรียงรายชิดติดกันเป็นแถวด้วยท่อใส ร่างมนุษย์จำลอง 3 มิติ กำลังเดินไปมาอยู่ในแต่ละท่อ รถสำรวจดาวอังคารขนาดใหญ่กำลังแล่นอยู่ใกล้ๆ ทะเลทรายสีแดง
กลุ่มทีมข่าวต่างอุทานเสียงดัง
แม้ว่าพวกเขาจะได้ยินข่าวจากแอคเคานต์ทวิตเตอร์ทางการของนาซาแล้ว แต่นาซาก็ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดอะไรในเรื่องโครงการแอรีส หรืออธิบายเรื่องระบบดำรงชีพเลย
เมื่อพวกเขาได้มาเห็นภาพระบบดำรงชีพบนจอใหญ่กับตา ก็เลยอดตกใจไม่ได้
ยิ่งเมื่อพวกเขาเห็นตัวจรวดบีเอฟอาร์เองแล้ว!
จรวดที่มีความสามารถในการบรรทุกน้ำหนักที่มากที่สุดคือจรวดแซเทิร์น 5 ที่สามารถบรรทุกของน้ำหนัก 47 ตันไปดวงจันทร์ได้
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของโปรเจกต์แอรีสไม่ใช้ทั้งวงโคจรต่ำของโลก หรือวงโคจรดวงจันทร์ แต่เป็นดาวเคราะห์ที่ห่างออกไปถึง 55 ล้านกิโลเมตรที่ชื่อ ‘ดาวอังคาร’!
กลุ่มนักข่าวต่างตกใจกับแผนการใหญ่ของนาซา คน 300 คนในห้องประชุมต่างโหวกเหวกโวยวายกัน
คาร์สันพึงพอใจกับปฏิกิริยาของกลุ่มนักข่าว เขากระแอมก่อนที่จะเริ่มอธิบายต่อ
“…หลังจากระบบดำรงชีพบนดาวอังคารถูกติดตั้งสำเร็จแล้ว มันจะสามารถทำให้นักบินอวกาศ 5 คนสามารถใช้ชีวิตบนดาวอังคารได้ 2-5 ปี ในระหว่างนี้ กลุ่มนักบินอวกาศจะทำการทดลองบนดาวอังคารหลายอย่าง เช่นการสำรวจแหล่งแร่และแหล่งน้ำบนดาวอังคาร พวกเขาจะเก็บข้อมูลโดยตรงมาเพื่อให้นักวิจัยของเราที่อยู่ที่โลก และกรุยทางให้กับโปรเจกต์อื่นๆ ที่จะตามมา สุดท้ายแล้ว พวกเราจะสร้างชุมชนที่ดำรงอยู่ด้วยตัวเองได้บนดาวเคราะห์แดงดวงนั้นครับ!”
บรรยากาศในห้องประชุมพุ่งขึ้นถึงจุดไคลแม็กซ์
แล้วช่วงตอบปัญหาก็ได้เริ่มต้นขึ้น
นักข่าวทุกคนต่างยกมือขึ้น
ผู้อำนวยการคาร์สันมองไปทางนักข่าวแต่ละคน แล้วเขาก็เลือกคนจากวอชิงตันโพสต์ให้เป็นคนถามอย่างอัตโนมัติ
วอชิงตันโพสต์เป็นสื่อที่มีคุณภาพแห่งหนึ่ง มีโอกาสน้อยที่พวกเขาจะถามคำถามยากๆ กับคาร์สัน และยังเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยสำหรับตัวผู้อำนวยการนาซาเองด้วย
นักข่าวชื่อดังจากวอชิงตันโพสต์คว้าโอกาสอันมีค่าที่ได้มาแล้วถามขึ้น
นักข่าวยื่นไมโครโฟนในมือของเขาออกมาแล้วพูดว่า “สวัสดีครับท่านผู้อำนวยการ พวกเราทุกคนต่างรู้กันว่าโครงการแอรีสเพิ่งจะถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ คุณคิดว่าพวกเรามีเวลามากพอในการทำแผนการใหญ่ขนาดนี้ไหมครับ? หรือไม่ก็ นาซามีความมั่นใจมากแค่ไหนกับการประสบความสำเร็จในระยะแรกของโครงการแอรีสครับ?”
อย่างที่คาร์สันคาดไว้ คำถามของวอชิงตันโพสต์จะมุ่งเน้นไปที่ ‘เวลาในการเตรียมตัว’ และ ‘อัตราความสำเร็จ’
คาร์สันมองไปทางนักข่าวแล้วตอบคำถาม “ก็จริงอยู่ที่โครงการแอรีสเพิ่งจะถูกจัดตั้งขึ้นมาเมื่อไม่นานมานี้ แต่พวกเราก็ได้เตรียมตัวไปดาวอังคารมานานแล้ว ยกตัวอย่างเช่น การวิจัยระบบดำรงชีพของเราเริ่มมาเร็วตั้งแต่เมื่อราว 10 ปีก่อนได้ การบินทดสอบครั้งแรกของสเปซ-เอ็กซ์ บีเอฟอาร์ก็เกิดขึ้นไปแล้วเมื่อ 2 ปีก่อน
“การตั้งอาณานิคมบนดาวอังคารเป็นแผนที่คิดมาดีแล้ว ผมขอให้พวกคุณมั่นใจว่าพวกเราได้ทำการทดลองเรื่องความปลอดภัยทุกอย่างเรียบร้อยแล้วครับ!”
เสียงปรบมือดังกระหึ่มไปทั่วห้อง
นักข่าวชาวอังกฤษจาก BBC โชคดีพอที่จะมีโอกาสได้ถามคำถาม
“คุณผู้อำนวยการครับ พวกเราต่างก็รู้กันว่า เมื่อสัปดาห์ก่อน ประเทศจีนประสบความสำเร็จในการส่งคนไปดวงจันทร์แล้ว ผมอยากจะถามว่า โครงการแอรีสเป็นการโต้ตอบต่อการกระทำของประเทศจีนหรือไม่ครับ?”
คำตอบมันชัดเจนอยู่แล้ว
ถ้าไม่ใช่เพราะประเทศจีนส่งนักบินอวกาศไปดวงจันทร์แล้วล่ะก็ จะหัวเด็ดตีนขาดอย่างไร สภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกาก็จะไม่มีวันเห็นด้วยกับโปรเจกต์การบินและอวกาศที่สุดแสนจะแพงนี้เป็นแน่
นาซาต้องขอบคุณคนจีนจากเรื่องนี้ด้วยซ้ำ
เพราะถ้าหากไม่ใช่เพราะประเทศจีนมีการพัฒนาในวงการการบินและอวกาศขึ้นมาแล้ว ก็ไม่มีทางที่สํานักงานวิเคราะห์และติดตามการใช้งบประมาณแห่งรัฐสภาจะใจดีขนาดนี้แน่ๆ
แต่แน่นอนว่าคาร์สันจะไม่ยอมรับเรื่องนี้ออกมากับสื่อหรอก
“ไม่ใช่แล้วล่ะครับ พวกเราส่งนักบินอวกาศไปดวงจันทร์ตั้งแต่เมื่อราว 50 ปีที่แล้ว การที่ประเทศจีนพยายามไล่ตามหลังพวกเรามาก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาเป็นคู่ต่อสู้ที่เทียบเท่ากันได้เลย
จำไว้นะครับว่า การไปดวงจันทร์มันเป็นเรื่องเก่าไปแล้ว เป้าหมายใหม่ของพวกเราคือการไปดาวอังคาร ดาวเคราะห์ที่มีความเป็นไปได้ไม่รู้จบ”
แชะ แชะ!
กล้องในงานถ่ายภาพของการแถลงข่าวไปหลายภาพ
คล้ายกับว่านักข่าวชาวอเมริกันถูกฉีดคาเฟอีนเข้าร่างกาย พวกเขากระปรี้กระเปร่ากันมาก นักข่าวชาวอังกฤษดูมีท่าทีสนใจ ในขณะที่นักข่าวชาวรัสเซียดูเป็นกังวล
ไม่ว่าใครจะตีความอย่างไร แต่ผู้อำนวยการนาซาไม่ได้พูดถึงประเทศจีนในทางที่ดีเลย
คนอเมริกันไม่นับว่าประเทศจีนเป็นคู่แข่งด้วยซ้ำ
ในขณะที่ประเทศจีนกำลังพยายามไล่ตามมา คนอเมริกันก็ก้าวสู่เรื่องที่ใหญ่กว่าและดีกว่าเรียบร้อยแล้ว!