ศึกยุทธ์ใต้ขุนเขาเงาจันทรา - บทที่ 130 ไต่เต้าและพังทลาย-3
บทที่ 130 ไต่เต้าและพังทลาย-3
“เชิญพวกเราไปร่วมงานเลี้ยง!”
ทังจงซงถือเทียบเชิญที่ตี๋เหว่ยไท่ส่งมาในมือกล่าวกับบัณฑิตจางในหอทรงปัญญา
“อืม”
บัณฑิตจางตอบอย่างขอไปทีและไม่เอ่ยสิ่งใดอีก
“ตี๋เหว่ยไท่เชิญพวกเราไปร่วมงานเลี้ยง!!”
ทังจงซงกล่าวเสียงสูงอีกครั้ง
“อืม”
บัณฑิตจางก็ยังไม่รู้ร้อนรู้หนาว ราวกับว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับตน
“เขาเชิญพวกเราไปร่วมงานเลี้ยง ท่านกลับเมินข้าอยู่ตรงนี้”
ทังจงซงเห็นบัณฑิตจางกำลังอ่านหนังสือโดยไม่ละสายตา คล้ายกับทุ่มเทจิตวิญญาณทั้งหมดให้กับตำราเล่มนี้
สำหรับการตอบรับสองครั้งนั้น เดาว่าคงได้ยินเสียงทังจงซงแล้วจึงตอบส่งๆ ไป
ส่วนทังจงซงจะกล่าวสิ่งใดนั้น เขาได้ยินไม่ชัดสักกะนิด
ทังจงซงรู้สึกงุนงง
ผู้เฒ่าเช่นบัณฑิตจางฉลาดและตีมึนเช่นนี้ มีหรือจะมีเรื่องที่ทุ่มเทอุทิศตนถึงเพียงนี้
แต่ไหนแต่ไรล้วนถือตัวไม่กังวลใส่ใจเรื่องใด เรื่องเดียวที่เขาใส่ใจก็คือลูกศิษย์ผู้น่าเวทนาของเขา
“ท่านมันตาเฒ่าเลวทราม!”
ทังจงซงตวาดต่อว่า
เขาคิดว่า ตอนนี้ท่านคงไม่อาจแสร้งทำหูหนวกเป็นใบ้ได้อีกแล้วกระมัง
“อืม…”
แต่ปรากฏว่า บัณฑิตจางก็ยังเค้นคำพูดจากลำคอตอบรับคำ
ขณะนี้เองทังจงซงจึงตระหนักได้ว่าบัณฑิตจางถูกตำราในมือดึงความสนใจจนไม่วอกแวกจริงๆ
เขาไม่รู้ว่าเป็นตำราอะไร
แต่หากอ่านสนุกเพียงนี้จริงๆ เหตุใดระหว่างทางจากอาณาจักรติ้งซีมายังหอทรงปัญญาก่อนหน้านี้ ไม่เห็นบัณฑิตจางหยิบมันออกมาอ่านสักครั้ง
‘ฟึ่บ!’
ทังจงซงเดินเข้ามาใกล้ สองมือลากปกหน้าและปกหลังของตำราและพับปิดมันในคราวเดียว
“เจ้าเป็นบ้าอะไรอีก!”
บัณฑิตจางกล่าวอย่างไม่พอใจ
“ตำราลายเส้นหรือ นี่เป็นตำราแบบใดกัน”
ทังจงซงจึงมองเห็นชื่อตำราบนหน้าปก แต่เขากลับสมองขาวโพลน ไม่รู้ว่าตำราเล่มนี้เกี่ยวกับสิ่งใดเสียด้วยซ้ำ
………………………..
ขอบเขตการรับรู้ทังจงซงกว้างขวางแต่ไม่ถ่องแท้ หลากหลายแต่ไม่ลึกซึ้ง
สิ่งใดล้วนรู้เพียงผิวเผิน แต่ไม่รู้สิ่งใดอย่างถ่องแท้แน่ชัด
นี่ก็ต้องโทษตัวเขาเองที่ไม่ตั้งใจร่ำเรียน เอาแต่คิดเปลี่ยนวิธีจะทำอย่างไรให้ครูบาอาจารย์เคืองโกรธทุกวัน
เขาคิดว่าหนังสือเขียนโดยคน
มองเห็นสิ่งใด นึกถึงสิ่งใด ก็เขียนออกมาเช่นนั้น
ไม่ได้มีความหมายมากมายใดจริงๆ
หากจะดูตำรา สู้ดูคนเขียนตำราจะดีกว่า
ทำความเข้าใจมองทะลุคนหนึ่งคน น่าสนใจและมีประโยชน์ยิ่งกว่ารู้แจ้งตำราหนึ่งเล่ม
ทว่าเขาคิดเช่นนี้ก็ไม่ผิด อย่างไรเสียโลกนี้เป็นบ่อเกิดของความรู้ เรียนรู้ความรู้สึกของมนุษย์เป็นบ่อเกิดของบทความ
คนส่วนใหญ่ล้วนมองเห็นจิตใจและจิตวิญญาณของผู้เขียนผ่านตัวอักษรในตำรา ผ่านกระดาษและหน้าปก
หากมองข้ามความสัมพันธ์นี้ไป สามารถมองเห็นจิตใจและจิตวิญญาณของผู้เขียนโดยตรงจะไม่เป็นการเรียนรู้ได้อย่างถ่องแท้ยิ่งขึ้นหรอกหรือ
ฉะนั้นตอนนั้นทังจงซงจึงบอกบิดาของเขา ท่านต้องการให้ข้าร่ำเรียนย่อมได้ ทว่ามีเงื่อนไขหนึ่งข้อ
ถึงอย่างไรความสามารถแท้จริงของบัณฑิตจะมีกี่ส่วนนั้นไม่อาจอาศัยเพียงทักษะการพูดจา และไม่อาจขึ้นอยู่กับเขาสวมใส่อาภรณ์ขุนนางบุ๋นสีใดหรือเนื้อผ้าเช่นไร
ทังหมิงย่อมรู้ความคิดของเจ้าบุตรชายจอมดื้อ…อาจจงใจหาเรื่องบางอย่างเพื่อหลบเลี่ยงการร่ำเรียนซึ่งเป็นไปได้ถึงแปดส่วน
แต่ในยุคปัจจุบันนี้ ผู้ที่อ่านอักษรไม่ได้เรียกว่าคนไม่รู้หนังสือ ผู้ที่ไร้การศึกษาเรียกว่าคนไม่ประสบความสำเร็จ
ผู้ฝึกยุทธ์เพียงฝึกยุทธ์เท่านั้นและถูกเรียกว่า ‘ความกล้าหาญของคนไม่มีสติปัญญา’ อย่างเลี่ยงไม่ได้
ผู้คนชื่นชมคนเช่นจางซู่ที่เป็นผู้มีทักษะทั้งบู๊และบุ๋น
แต่ที่ใดในโลกนี้จะมีผู้รอบรู้รอบด้านมากมายเพียงนี้เล่า
คนหนึ่งคนสามารถนอนบนหมอนได้ใบเดียวเท่านั้น
เช่นเดียวกับก้นเดียวพยายามนั่งเก้าอี้สองตัวพร้อมกันฉันใด ย่อมตกลงจากตรงกลางฉันนั้น
ทังจงซงคิดว่าตนมีพรสวรรค์เหนือผู้อื่น และเขาก็ฉลาดเฉลียวมากจริงๆ
ทว่าเขารู้ว่าตนไม่อาจเป็นดั่งจางซู่และยิ่งไม่อาจเป็นผู้เลิศล้ำทักษะบุ๋นและบู๊พร้อมกัน
เขาบอกทังหมิงว่าผู้ที่สอนเขาจะต้องมีความสามารถอย่างแท้จริง
ความสามารถอย่างแท้จริงคือสิ่งใด
ใช้ตำราที่ผู้อื่นเขียนไม่นับเป็นความสามารถแท้จริง ใช้ตำราที่ตนเขียนจึงจะนับว่าเป็นความสามารถแท้จริง
ด้วยเหตุนี้ อาจารย์ที่สั่งสอนเขาย่อมต้องใช้ตำราเรียนที่ตนเองเขียน
เพียงข้อเดียวนี้ทำให้เขารู้สึกเป็นอิสระไปอีกระยะหนึ่ง
อย่างไรเสีย เหตุผลทั้งหมดในโลกนี้มีมากมายเพียงนั้น นักปราชญ์ที่เขียนเก่งก็เขียนเสร็จไปตั้งนานแล้ว
สิ่งที่เรียกว่าสร้างสรรค์สิ่งใหม่เป็นเพียงขวดสุราบรรจุสุราใหม่ นับไม่ได้ด้วยซ้ำ
เพียงแต่ค่าตอบแทนของทังหมิงจ่ายนั้นสูงยิ่ง อีกทั้งในรัฐติงนั้นหากได้เป็นอาจารย์บุ๋นของบุตรชายผู้ควบคุมรัฐติงถือเป็นเกียรติภูมิอย่างยิ่ง
หนึ่งคนบรรลุเซียน หมูหมากาไก่รอบตัวพลอยได้ดิบได้ดีด้วย
อาจารย์สอนเพียงวันเดียว นับถือเป็นบิดาตลอดชีวิต
สามารถสวมใส่ชุดขุนนางบุ๋นย่อมเป็นเรื่องดี แต่หากเปลี่ยนชุดบัณฑิตเป็นเงินมากมายและเปลี่ยนเป็นไร่นาหรือเคหะสถานจะดียิ่งกว่าหรือไม่
ด้วยเหตุนี้ หลังจากประกาศเงื่อนไขใหม่ เพียงหนึ่งเดือนต่อมา สิ่งที่เรียกว่า ‘ตำราเล่มใหม่’ จากทั่วทั้งรัฐติงร่วงหล่นลงมาราวกับหิมะ
ทังจงซงคร้านจะอ่านตำราทีละเล่ม
เขาคืนตำราเหล่านี้กลับไปทั้งหมด และขอให้อาจารย์เหล่านี้ทำเครื่องหมายในตำราว่าส่วนใดอ้างอิงจากคำกล่าวของนักปราชญ์ ส่วนใดเป็นการขยายความตามคำกล่าวของนักปราชญ์และส่วนใดเป็นต้นฉบับของตนเอง
ด้วยเหตุนี้ ย่อมขัดขวางบัณฑิตมากมายที่คิดอยากหลอกฉ้อโกงเงิน
อย่างไรก็ตาม แต่เดิมรัฐติงวัฒนธรรมจืดชืด และเนื่องจากการค้นหาปรมาจารย์สายบุ๋นของทังจงซงกลายเป็นประเด็นถกเถียงจึงเป็นเรื่องดีที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ!
ท้ายที่สุด มีเพียงตำราห้าเล่มที่ได้รับคัดเลือก
ทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งใหม่อย่างแท้จริง กล่าวจากก้นบึ้งหัวใจ
แต่ทังจงซงมีสติปัญญาระดับใดเล่า
พริบตาเดียวโป้ปดได้ถึงสิบห้าเรื่อง
ยิ่งกว่านั้น ทั้งหมดค่อยๆ เกี่ยวพันกันทั้งยังลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ จนไม่มีผู้ใดตรวจพบข้อบกพร่องได้
ต่อให้อารัมภบทเกินจริงเพียงใด ต่อให้วาจาไร้มารยาทเพียงไหน ท้ายที่สุดเขาก็สามารถวนกลับมาเสริมเติมแต่งจนได้
ทว่าในเมื่อมีตำราแล้ว เช่นนั้นการเรียนนี้ย่อมต้องศึกษา
แต่ตำราห้าเล่มนี้ตัดสินได้ยากว่าผู้ใดเก่งยิ่งกว่า
เฉกเช่นเดียวกับความจริงในโลก เห็นด้วยคัดค้านล้วนถูกต้องทั้งสิ้น
สิ่งนี้ยิ่งทำให้ทังจงซงใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ได้
เขาขอให้อาจารย์ทั้งห้าท่านทดลองสอนสามเดือนทุกคน ในช่วงสามเดือนนี้จะจ่ายค่าตอบแทนตามปกติ หลังจากสามคูณห้าเท่ากับสิบห้าเดือนขึ้นอยู่กับผลงานอาจารย์แต่ละท่าน สุดท้ายค่อยตัดสินใจว่าผู้ใดจะได้สอนเขาต่อไป
วิธีนี้เป็นผลงานสร้างสรรค์ดั้งเดิมของทังจงซง สดๆ ร้อนๆ
ก่อนหน้านี้ ในสายวรรณกรรม อาจารย์หนึ่งคนรับศิษย์ได้หลายคน แต่ไม่มีคำกล่าวใดที่ว่าศิษย์หนึ่งคนสามารถคารวะอาจารย์ได้หลายคนมาก่อน
แต่แน่นอนว่าทังจงซงย่อมมีคำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ของเขา…เยาวชนสมองช้าเพราะการสอนไม่เหมาะสม
แม้จะเก็บเอาคำพูดผู้อื่นเป็นของตน เศษของเหลือจากนักปราชญ์ก็ตาม
แต่สิ่งที่เขากล่าวก็คือ ศิษย์คารวะอาจารย์ แต่อาจารย์สามารถเลือกศิษย์ได้ฉันใด ศิษย์ก็สามารถเลือกอาจารย์ได้ฉันนั้น
เลือกอาจารย์ไม่ดี ครั้นคำนับย่อมไร้ประโยชน์ชั่วชีวิต
เลือกศิษย์ไม่ดี ครั้นรับชื่อเสียงย่อมป่นปี้
ฉะนั้นทั้งสองฝ่ายต้องระวังแล้วระวังอีก
เหตุผลยิ่งใหญ่นี้ทำให้ผู้คนวนอยู่ในเมฆหมอก ซึ่งดูเหมือนจะจริง
แต่หากพิจารณารอบคอบแล้ว ย่อมเป็นที่พึงปรารถนาอย่างยิ่ง
ข้าต้องการให้ตนเรียนรู้ได้ดี จึงต้องเลือกอย่างระมัดระวัง
ข้าก็ไม่ต้องการให้ท่านอาจารย์ไม่ดี ท่านจึงต้องดูว่าข้าคุณสมบัติเพียงพอให้ท่านสอนข้าหรือไม่
ทังจงซงดูเหมือนจะวางตนในตำแหน่งที่ต่ำต้อย สร้างภาพลักษณ์คนที่ทุ่มเทเรียนรู้ อ่านตำราลืมความกระหาย
อย่างที่ทราบกัน เขาทำสิ่งนี้เพียงเพื่อจะข้ามการศึกษาตำราและศึกษาคนโดยตรง
ตำราที่คนเขียนอยู่ในมือเขา และผู้เขียนตำราก็นั่งอยู่ข้างกาย
ผู้เขียนตำราย่อมไม่ทุ่มเทจิตใจและจิตวิญญาณในคราวเดียว
แม้แต่การเลือกคำและประโยคยังต้องใช้ความคิดพักหนึ่งใช่หรือไม่
บทความที่เขียนต่างจากการเขียนข่าวลือไร้สาระรายวัน เพียงคำช่วยเสริมและคำครึ่งๆ กลางๆ นั้นก็เพียงพอที่จะทำให้ผู้คนปวดเศียรเวียนเกล้าแล้ว
แต่จุดประสงค์ของทังจงซงเพียงเพื่อดูว่าหนังสือที่บุคคลผู้นี้เขียนเป็นเรื่องจริงและเรื่องปรุงแต่งเพียงไหน
จริงถึงขั้นใด และปรุงแต่งถึงขั้นไหน
นี่เป็นสิ่งที่เรียกว่าการเชื่อมโยงของมนุษย์
เขาอ่านตำราแล้วค่อยเปรียบเทียบกับบุคคลนั้น
ทั้งอ่านทั้งดูรูปภาพและหน้าตำรา แล้วนำมาซ้อนทับกัน
บางคนเข้าใจยากหน่อย เขาก็ให้เขาสอนตนเองห้าเดือน
บางคนเข้าใจได้ง่ายหน่อย แม้แต่หนึ่งเดือนก็ไม่ได้สอน
มึนๆ งงๆ ก็ผ่านไปแล้วหนึ่งปี
หากถามทังจงซงว่าเขาเรียนรู้สิ่งใดไปแล้วบ้าง
อย่างน้อยจำอักษรได้ทั้งหมด หลักการก็จำได้ไม่น้อยเช่นกัน
แต่ความรู้ที่ลึกยิ่งกว่านั้นแม้แต่ตัวเขาเองก็บอกไม่ถูกเช่นกัน
คนหนึ่งมีชีวิตบนโลกนี้ ในชีวิตจะมีคนสนิทสนมได้สักกี่คนกันเล่า
ทังจงซงกลับใช้เวลารู้จักสนิทสนมห้าคนเพียงหนึ่งปี
ทุกคนล้วนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่มีความคล้ายคลึงกันโดยธรรมชาติ
อาศัยรากฐานของทั้งห้าคนนี้ เขาได้วางรากฐานสำคัญที่สุดสำหรับพฤติกรรมในอนาคตของเขา
ทว่าสำหรับการประเมินอาจารย์ทั้งห้าท่าน ทังจงซงมีเพียงแปดคำเท่านั้น
‘เดรัจฉานในคราบมนุษย์ คนดีจอมปลอม’
เขาเคยได้ยินอาจารย์ขี้เมาคนที่สามบอกกับตนว่า เขาใช้ค่าตอบแทนสูงที่ทังหมิงจ่ายให้แต่งนางสนมวัยลูกกระวาน[1]เข้าเรือน
ยังมีอีกคน ขณะตะโกนโหวกเหวกเล่นการพนันก็ชนประจันหน้ากับทังจงซงด้วย
ในยามนี้ ไยพวกเขาไม่เอ่ยถึงหลักการสำคัญเหล่านั้นให้กับทังจงซงในชั้นเรียนเล่า
คนตัณหาก็ยังมากตัณหาอยู่ นักพนันก็ยังเล่นพนันอยู่
ไม่ว่าเขามีความรู้มากเพียงใด ท้ายที่สุดก็ยังพูดและกระทำอยู่วันยังค่ำ
หลังจากคิดเรื่องเหล่านี้ได้ ทังจงซงจึงใช้สิ่งนี้เป็นข้ออ้างทำให้พวกเขาทั้งคู่รู้สึกละอายใจจนไปขอลาออกกับทังหมิงเอง
ทังหมิงย่อมรู้ดีว่า นี่จะต้องเป็นเจ้าเด็กทังจงซงก่อเรื่องอีกเป็นแน่
แต่ภายใต้การซักถามโดยละเอียด อาจารย์ทั้งห้าท่านล้วนบอกว่าตนความรู้น้อยไม่อาจสอนคุณชายทังผู้มากความสามารถได้ จึงขอให้ทังหมิงจ้างคนอื่นแทน
อ่านตำราห้าเล่มจนจบ ก็เข้าใจหลักการของโลกเกือบทั้งหมดแล้ว
ศึกษาห้าคนทะลุปรุโปร่งแล้ว ก็เข้าใจจิตใจมนุษย์ในโลกเกือบทั้งหมดแล้วเช่นกัน
ดังนั้นนับแต่นั้นเป็นต้นมา ทังจงซงก็ไม่เคยหยิบตำราขึ้นมาอีกเลย
………………………..
เขารู้สึกว่าด้วยประสบการณ์ของบัณฑิตจางยิ่งไม่จำเป็นต้องอ่านตำรา แต่ตำราเล่มนี้กลับดูเหมือนลึกลับไม่ธรรมดา อย่างไรเสียแม้แต่ชื่อ เขาก็อ่านไม่เข้าใจด้วยซ้ำ
“นี่หาใช่ตำราไม่ มันเป็นภาพวาด”
บัณฑิตจางกล่าว
“ภาพวาดหรือ ข้าเห็นตัวอักษรอยู่บนนั้นชัดๆ!”
ทังจงซงกล่าว
“ตำราภาพวาด”
บัณฑิตจางกล่าว
“ตำราภาพวาดก็เป็นตำราไม่ใช่หรือ”
ทังจงซงถามกลับ สงสัยว่าตาเฒ่าประหลาดนี่อ่านตำราจนโง่เขลาไปแล้วหรือ มาล้อเล่นกับตนอย่างไร้เหตุผลสิ้นดี
“เจ้าคิดว่ามีตัวอักษรล้วนเป็นตำราหนังสือหรือ”
บัณฑิตจางย้อนถาม
“แน่นอน!”
ทังจงซงกล่าวอย่างมั่นใจเต็มเปี่ยม
“เช่นนั้นเจ้าดื่มสุราหมักแทนสุราได้หรือไม่”
บัณฑิตจางถาม
คราวนี้ทำเอาทังจงซงพูดไม่ออกอย่างสิ้นเชิง…
สุราหมักแม้จะมีคำว่าสุราอยู่ และเกี่ยวข้องกับสุราจริงๆ
แต่เกรงว่าในใต้หล้าจะไม่มีผู้ใดดื่มสุราหมักแทนสุรา
หากมีคนเช่นนี้จริงๆ เช่นนั้นคอของเขาจะอ่อนเพียงใดกัน
ทังจงซงคิดแล้วพลันรู้สึกขบขัน
เช่นเดียวกับคำว่าหอยทาก[2]ที่ประกอบด้วยอักษรคำว่าวัว แต่ผู้ใดจะผูกคันไถที่เปลือกหอยทากไว้ไถดินเล่า
ครั้นคิดเช่นนี้ สิ่งที่บัณฑิตจางกล่าวก็มีเหตุผลของเขา
“ตำราวาดภาพคือตำราอะไรหรือ”
เสียงของทังจงซงอ่อนลง พริบตาเดียวก็ถามด้วยสีหน้าเก้อเขิน
“ตำราภาพวาดเป็นตำราสอนวาดภาพ”
บัณฑิตจางกล่าว
“ท่านวาดภาพเป็นด้วยหรือ”
ทังจงซงไม่เชื่อ
บัณฑิตจางไม่ตอบ แต่หยิบพัดกระดูกขาวของเขาจากโต๊ะข้างกาย และกางออกเสียงดัง ‘พรึ่บ’ พร้อมกับชี้มันและกล่าวกับทังจงซง
“ข้าวาดเก่งหรือไม่”
“ไม่รู้…ข้าไม่เข้าใจภาพวาดและไม่เคยดูภาพวาดมาก่อน หากเทียบกับข้า เช่นนั้นย่อมดีและเก่งกว่า ไร้ที่ติ แต่หากเทียบกับจิตรกรมืออาชีพ คิกๆ…”
แม้ว่าทังจงซงจะยอมรับว่าด้อยกว่า แต่ไม่วายทิ้งท้ายด้วยถ้อยคำเสียดสีเขา
“ว่ากันว่าวาดมังกรวาดเสือยากที่จะวาดให้เห็นกระดูก รู้คนรู้หน้าไม่รู้ใจ แม้พัดของข้าจะทำจากกระดูกขาว แต่ไร้จิตใจ ไม่มีจิตใจย่อมไม่มีพลังที่มีชีวิตชีวา ภาพวาดที่ไม่มีพลังไม่ใช่ภาพวาดที่ดี”
บัณฑิตจางถอนหายใจกล่าว
“มนุษย์มีชีวิตจึงมีพลังไม่ใช่หรือ”
ทังจงซงไม่เห็นด้วย
“ถูกต้อง! อันที่จริงความเข้าใจของเจ้าหนูเช่นเจ้าน่าทึ่งยิ่งนัก! แต่แค่ไม่ยินยอมตั้งใจกระทำมัน!”
บัณฑิตจางกล่าวด้วยความเศร้าใจเล็กน้อย
“นั่นเพราะไม่มีสิ่งใดคุ้มค่าให้ข้าลงแรง สิ่งที่คุ้มค่าให้ข้าลงแรงก็ทำจนหมดแล้ว อีกทั้งตอนนี้ก็ไม่มีโอกาสให้ได้กระทำอีก”
ทังจงซงกล่าว
………………………………………………………………
[1] วัยลูกกระวาน หมายถึง เด็กสาวอายุ 13-14 ปี
[2] หอยทาก อักษรจีน 蜗牛(วอหนิว) มีคำว่า 牛 (หนิว) ที่หมายถึงวัว