Full-time Artist ใครว่าผมไม่เหมาะเป็นศิลปิน - ตอนที่ 378 ทำนองวารี จันทร์แจ่มเมื่อไรมี
- Home
- Full-time Artist ใครว่าผมไม่เหมาะเป็นศิลปิน
- ตอนที่ 378 ทำนองวารี จันทร์แจ่มเมื่อไรมี
ตอนที่ 378 ทำนองวารี จันทร์แจ่มเมื่อไรมี
แน่นอนว่าหลินเยวียนเข้าใจความตกตะลึงของซาวด์เอนจิเนียร์
ถ้าหลินเยวียนมองจากมุมของชาวบลูสตาร์ เขาเองก็คงตะลึงงันไปเช่นกัน
เป็นความตกตะลึงเช่นเดียวกับที่เขาได้ฟังกลอนสือ[1]นี้เป็นครั้งแรกเมื่ออยู่โลกเดิม และเป็นความยกย่องชื่นชมที่เขามีต่อบทกวี นี่คือกลิ่นอายของผลงานชิ้นเอกซึ่งทำให้ผู้คนมองหน้ากันทันทีที่ได้ยินประโยคแรก
จันทร์แจ่มเมื่อไรมี ชูจอกชี้ถามฟ้าคราม…
ถ้าหากไม่ใช่ปรมาจารย์ซึ่งมีฝีมือในการเขียนเนื้อเพลงระดับสูง มีหรือจะเขียนกลอนสือระดับ ‘ทำนองวารี จันทร์แจ่มเมื่อไรมี’ ได้?
ถูกต้อง!
บทเพลงที่หลินเยวียนเตรียมไว้ในครั้งนี้ ก็คือ ‘ทำนองวารี[2]’ อันเลื่องชื่อ !
ผู้ประพันธ์กลอนสือบทนี้คือ…
ยอดกวีตงพัว ซูซื่อ!!
หากบอกว่าถังปั๋วหู่กลายเป็นยอดอัจฉริยะซึ่งไม่ว่าใครก็ต้องรู้จัก เพราะผ่านการขัดเกลาและแต่งแต้มโดยผู้คนและผลงานภาพยนตร์ละก็ ซูซื่อในฐานะอริยบุคคลซึ่งเป็นตัวแทนของแวดวงวรรณกรรมสมัยซ่งบนโลกเดิมนั้น เชี่ยวชาญกวีนิพนธ์ทั้งกลอนซือ กลอนสือ เพลงลำนำ และการวาดภาพอย่างแท้จริง โดยที่ไม่จำเป็นต้องผ่านการแต่งขัดเกลาและแต่งแต้มแต่อย่างใด!
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานของเขาอย่างทำนองวารี ก็ยิ่งเป็นที่รู้จัก ได้รับการสืบทอดมาหลายนานหลายร้อยปีจนกลายเป็นกวีนิพนธ์คลาสสิกตลอดกาล!
ผลงานหลายชิ้นของซูซื่อ รวมไปถึงผลงานชิ้นนี้ ถูกส่งผ่านและได้รับการยกย่องจากผู้คนทุกยุคสมัย!
น่าเสียดายที่กวีระดับปรมาจารย์เช่นนี้ ไม่มีตัวตนอยู่บนบลูสตาร์
ทว่าในตอนนี้ หลินเยวียนกลับสามารถทำให้กวีนิพนธ์จากสมัยซ่งกลับมามีชีวิตอีกครั้งในรูปแบบของบทเพลง!
เมื่อเผชิญกับผลงานคลาสสิกเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ซาวด์เอ็นจิเนียร์จะรู้สึกว่านี่คือเนื้อเพลงที่สมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่เขาเคยเห็นมาในชีวิต โดยไม่มีแม้แต่คำว่า ‘หนึ่งใน’!
แน่นอน
ในฐานะงานกวีนิพนธ์สมัยซ่ง ทำนองที่แท้จริงของ ‘ทำนองวารี’ เป็นอย่างไรไม่มีผู้ใดล่วงรู้ เวอร์ชันที่หลินเยวียนได้รับมานั้นเป็นผลงานที่คนในยุคหลังแต่งทำนองขึ้นมาใหม่โดยอ้างอิงจากกลอนสือต้นฉบับ
นั่นก็คือเพลง ‘ขอเราคงอยู่ชั่วนิรันดร์’ ซึ่งขับร้องโดยเติ้งลี่จวิน
เพลงนี้อยู่ในอัลบั้มกวีนิพนธ์และบทเพลงของเติ้งลี่จวิน ‘ห้วงความรู้สึก’ ซึ่งวางจำหน่ายในปี 1983
อัลบั้มนี้เป็นผลงานคลาสสิกชิ้นโบแดงในช่วงเวลาสูงสุดของชีวิตในวงการของเติ้งลี่จวิน และเป็นอัลบั้มแรกซึ่งเธอมีส่วนร่วมและวางแผนด้วยตนเอง อัลบั้มนี้ต่างจากอัลบั้มอื่น เพราะทั้ง 12 เพลงนั้นคัดสรรมาจากงานประพันธ์รูปแบบกลอนสือสมัยซ่ง เป็นวรรณกรรมชิ้นเอกซึ่งมีประวัติศาสตร์มานับพันปี และเมื่อกวีนิพนธ์โบราณผสมผสานเข้ากับบทเพลงสมัยใหม่ และผ่านการขับร้องด้วยเสียงอันไพเราะซึ่งเป็นพรสวรรค์ของเติ้งลี่จวิน เกิดเป็นความสง่างาม เคร่งขรึม อ่อนโยนและซับซ้อน ซึ่งเข้ากับสไตล์ของกวีนิพนธ์ถังและซ่งได้อย่างลงตัว
นานวันเข้า วันเวลาไม่อาจปกปิดความเจิดจรัสของเติ้งลี่จวิน แต่วันคืนกลับขับสน่ห์ของเธอให้โดดเด่นขึ้นเรื่อยๆ
และบทเพลงขอเราคงอยู่ชั่วนิรันดร์ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ในฐานะเพลงไตเติลของอัลบั้ม ภายหลังถูกนำไปร้องคัฟเวอร์ ได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งในผลงานโด่งดังซึ่งเป็นมรดกตกทอดของเติ้งลี่จวิน!
ราชินีเพลงอย่างเฟย์ หว่องเองก็คัฟเวอร์เพลงนี้เช่นกัน
เพราะอิทธิพลของเฟย์ หว่อง ทำให้หลายคนถึงขั้นไม่รู้ว่าอันที่จริงต้นฉบับของเพลงนี้มาจากเติ้งลี่จวิน และคิดว่าเพลงนี้เป็นของเฟย์ หว่อง
ในความจริงแล้วเติ้งลี่จวินคือต้นฉบับ ในจุดนี้สำคัญอย่างยิ่งยวด และควรเน้นย้ำหลายครั้ง
เฟย์ หว่องเองก็เป็นแฟนคลับของเติ้งลี่จวิน
มีครั้งหนึ่งเฟย์ หว่องร้องเพลงในคอนเสิร์ตรำลึกถึงเติ้งลี่จวิน เมื่อเสียงดนตรีดังขึ้น หน้าจอภาพขนาดใหญ่ฉายภาพของเติ้งลี่จวินครั้งยังมีชีวิตอยู่ จู่ๆ เฟย์ หว่องซึ่งหันหลังให้หน้าจอ ก็หันกลับมามองเติ้งลี่จวินด้วยความเคารพ มือทั้งสองข้างถือไมโครโฟน ท่วงท่าถ่อมตนราวกับนักเรียนคนหนึ่ง
ไม่มีใครเคยเห็นเฟย์ หว่องมีท่าทางเช่นนี้มาก่อน
หลายคนอาจถามว่าทำไมเวอร์ชันของเฟย์ หว่องถึงโด่งดังกว่า
ณ ที่นี้ไม่จำเป็นต้องยกเรื่องการจากไปตั้งแต่เยาว์วัยของเติ้งลี่จวินมาอธิบาย
หลายคนคงเคยได้ฟังเพลง ‘ไม่อยากโตเป็นผู้ใหญ่’ ของวง S.H.E.[3]
แต่น้อยคนนักจะรู้ว่า เพลงนี้ใช้ซิมโฟนีหมายเลข 40 ของโมสาร์ตซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุด มาเป็นทำนองในท่อนคอรัส
อย่างไรก็ดี ด้วยฝีมือระดับเฟย์ หว่อง เวอร์ชันที่เธอร้องนั้นยอดเยี่ยมมากเช่นกัน กอปรกับทำนองเพลงก็สร้างสรรค์ได้อย่างเปี่ยมคุณภาพ ดังนั้นระบบจึงไม่เพียงมอบเวอร์ชันของเติ้งลี่จวินมาให้ แต่ระบบยังผลิตเวอร์ชันของเฟย์ หว่องและเวอร์ชันอื่นๆ มาให้เช่นกัน
นอกจากนั้น…
สำหรับเพลงนี้ อันที่จริงโลกภายนอกเองก็มีการถกเถียงกันเรื่องหนึ่ง มีคนคิดว่า ทำนองของเพลงนี้ไม่ค่อยเข้ากับเนื้อร้อง
ที่จริงแล้วนี่ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้
จะมีนักประพันธ์เพลงสักกี่คนที่คู่ควรกับกวีนิพนธ์ของซูซื่อ?
ต้องอธิบายก่อนว่า หลายคนในวงการวรรณกรรมยกย่องให้ทำนองวารีเป็นเพชรน้ำหนึ่งของกลอนสือสมัยซ่ง เพียงคนเดียวในแวดวงกวีนิพนธ์ประเภทกลอนสือสมัยซ่งซึ่งพอจะประมือกันได้มีเพียงซินชี่จี๋ บางทีในที่นี้อาจเพิ่มยอดกวีอี้อันเข้าไปอีกสักคน เพียงแต่งานเขียนสองท่านแรกจัดอยู่ในสไตล์ห้าวหาญ จึงสามารถเปรียบเทียบกันได้ชัดเจนมากกว่า
ยิ่งไปกว่านั้น ทำนองวารีถึงขั้นสามารถข่มผลงานในยุคปัจจุบัน และเป็นที่รู้จักในฐานะเพชรยอดมงกุฎของกวีนิพนธ์สมัยราชวงศ์ซ่ง
เพราะฉะนั้น นี่จึงเป็นงานหินระดับสูงสุดชิ้นหนึ่งก็ว่าได้
เริ่มต้นด้วยจันทร์แจ่มเมื่อไรมี จากนั้นจึงค่อยประพันธ์ทำนองเพลงโดยอ้างอิงจากกลอนสือสมัยซ่งระดับนี้ เดิมทีนี่ก็ไม่ใช่ภารกิจที่คนทั่วไปจะทำได้อยู่แล้ว
แต่หากทำได้ถึงขั้นที่ทำนองเพลงวิจิตรไพเราะ ก็นับว่าหาได้ยากเหลือเกิน
และลำพังเพียงการขับร้อง ก็จำเป็นต้องให้นักร้องระดับเติ้งลี่จวินหรือเฟย์ หว่องมารับมือ นักร้องที่ปราศจากพรสวรรค์โดดเด่นเลิกคิดไปได้เลย
นี่คือเหตุผลที่หลินเยวียนเลือกเจียงขุย
หลินเยวียนสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายของนักร้องระดับเติ้งลี่จวินและเฟย์หว่องจากเจียงขุย
ถึงแม้จะไม่ใช่ทั้งหมดเสียทีเดียว
ไม่มีใครสามารถเป็นเหมือนคนอื่นได้ทั้งหมดหรอก
ทว่าหากมองจากปัจจัยด้านต่างๆ เช่น ช่องเสียง เนื้อเสียง หรือเทคนิค เจียงขุยเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดที่หลินเยวียนนึกออกแล้ว
หลินเยวียนไม่ได้กำหนดตายตัวว่าจะให้เจียงขุยร้องเวอร์ชันไหน
เขาเตรียมขัดเกลาเพลงออกมาเป็นเวอร์ชันของเจียงขุยตามสไตล์ของเสียงของตัวเธอเอง ผสมผสานกับความคลาสสิกของเติ้งลี่จวิน และความอ่อนโยนของเฟย์ หว่อง
ทำนองของบทเพลงจะแตกต่างกันไปตามผู้ขับร้อง
นี่คือเหตุผลว่าทำไมหลินเยวียนจึงใช้เพลงของระบบ ทว่าในกระบวนการผลิตเพลง กลับพยายามสร้างสรรค์เพลงออกมาตรงกับเสียงจริงของผู้ขับร้องมากที่สุด
บางทีเมื่อเข้าสู่ช่วงบันทึกเสียงอย่างเป็นทางการ อาจยังต้องปรับเปลี่ยนในส่วนของการเรียบเรียงเพลงอีก
ทำนองไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงจนหวือหวา ต่อให้หลินเยวียนจะใช้การ์ดตัวละครหยางจงหมิง ก็ไม่รู้ว่าควรเริ่มปรับเปลี่ยนจากตรงไหนดี
จะให้คืนชีพทำนองวารีดั้งเดิมของซูตงพัวด้วยดนตรีดั้งเดิมน่ะหรือ เรื่องนั้นก็ยากเกินไป
ต่อให้คำวิจารณ์จากโลกภายนอกจะบอกว่าทำนองวารีเป็นผลงานที่ตัวบทกวีสำคัญกว่าทำนอง หลินเยวียนก็ทำได้เพียงพยักหน้ายอมรับ
กวีนิพนธ์บทนี้สุดยอดมากจริงๆ!
ในโลกที่ไม่มีซูซื่อ การปล่อยบทเพลงระดับนี้ออกไปย่อมสะท้านวงการเสียยิ่งว่าทิ้งระเบิดลูกโต!
“ใช้ชื่อเพลงว่า ‘จันทร์แจ่มเมื่อไรมี’ ก็แล้วกัน”
เติ้งลี่จวินและเฟย์ หว่องใช้ชื่อเพลงว่า ‘ขอเราคงอยู่ชั่วนิรันดร์’
ถ้าปล่อยเพลงในช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์ หลินเยวียนก็จะพิจารณาเลือกใช้ชื่อเพลงนี้ ถึงอย่างไรก็เหมาะกับช่วงเวลาดี
แต่เพลงนี้จะปล่อยในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีใหม่ เพราะฉะนั้น ‘จันทร์แจ่มเมื่อไรมี’ เห็นจะเหมาะสมกว่า
และเป็นการตั้งชื่อเพลงจากเนื้อเพลงด้วย
ซาวด์เอนจิเนียร์ย่อมไม่มีความคิดเห็นคัดค้านกับเรื่องนี้
และขณะที่หลินเยวียนเริ่มผลิตทำนองของกลอนสือทำนองวารี เจียงขุยเองก็เริ่มขบคิดว่าจุดเด่นในการร้องเพลงของตนอยู่ที่ไหน ทั้งยังหาครูมาช่วยในการฝึกซ้อมอย่างจริงจัง ถึงขั้นเลื่อนงานอีเวนต์ทั้งหมดออกไป…
นี่ไม่ใช่สิ่งที่จะทำอย่างสุกเอาเผากินได้
ความกดดันในเดือนธันวาคมหนักหนาเหลือรับ เธอจะต้องลงมือทำอะไรสักอย่าง ถึงจะทำให้ตนเองมีแรงใจเต็มเปี่ยม
เดือนธันวาคมปีนี้ ถูกลิขิตมาเพื่อเขย่าขวัญทั้งวงการดนตรี!
…………………………………………………
[1] กลอนสือ คือบทกวีประเภทหนึ่งของจีน มีวิวัฒนาการมาจากบันทึกยุคโบราณ เริ่มพัฒนาในสมัยราชวงศ์ถัง และเฟื่องฟูในสมัยราชวงศ์ซ่ง โดยทั่วไปกลอนสือจะมีการกำหนดฉันทลักษณ์และกลบทไว้ในรูปแบบเดียวกัน ซึ่งเรียกว่า ‘ทำนองสือ’ หรือ ‘สือไผ’ กลอนสือซึ่งใช้ทำนองสือเดียวกันจะใช้ชื่อนำหน้าเหมือนกัน โดยที่เนื้อหาไม่จำเป็นต้องเหมือนกันเสมอไป กวีซึ่งมีชื่อเสียงด้านกลอนสือ เช่น หลี่อวี้ ฟ่านจงเยียน ซูซื่อ หลิ่วหย่ง โอวหยางซิว หลี่ชิงจ้าว ซินชี่จี๋ เป็นต้น
[2] ทำนองวารี เป็นทำนองสือในสมัยราชวงศ์ซ่ง และกวีนิพนธ์ในชุดทำนองวารีซึ่งมีชื่อเสียงที่สุดคือ ‘ทำนองวารี จันทร์แจ่มเมื่อไรมี’ โดยซูซื่อ ซึ่งเขียนถึงน้องชายผู้ล่วงลับซึ่งมีนามว่าซูเจ๋อ (จื่อโหยว)
[3] S.H.E.วงหญิงล้วนแนวแมนโดพ็อปจากไต้หวัน ประกอบไปด้วยสมาชิกสามคน ได้แก่เซลินา เหริน (Selina Jen) เอลลา เฉิน (Ella Chen) และฮีบี เถียน (Hebe Tien)